วัดคูหาสวรรค์ พระอารามหลวง

วัดคูหาสวรรค์ พระอารามหลวง

วัดคูหาสวรรค์ เป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์โปรดในการเสด็จอยู่เสมอ มีโบราณสถานและรูปแบบศิลปกรรมที่สำคัญ
ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดคูหาสูง” หรือ "วัดสูง” ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด ตามตำนานนางเลือดขาวระบุไว้ว่า เมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอัฐิของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ๑ องค์ และพระพุทธรูปปูนปั้น ปั้นด้วยดินเหนียวเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก รวม ๓๗ องค์
          พระมหากษัตริย์หลายพระองค์เคยเสด็จประพาสที่นี่ ดังพระปรมาภิไธยย่อที่ทรงจารึกไว้ว่า จ.ป.ร.๑๐๘ บริเวณหน้าถ้ำ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จ พระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์ ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร.และสก.๑๗.๓.๒๕๐๒ ไว้ที่เพิงหน้าถ้ำ  ถ้ำนี้ลึกและยาว มีทางลอดใต้ภูเขาออกไปถ้ำนางคลอดซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันวัดคูหาสวรรค์ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเชิงเขาหัวแตก ตำบลคูหาสวรรค์ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดพัทลุงประมาณ ๘๐๐ เมตรด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเททองหล่อพระหน้าตักกว้าง ๔๐ นิ้ว น้ำหนัก ๑,๔๐๐ กิโลกรัม ประกอบด้วยโลหะทองเหลือง ทองแดง ทองขาวอย่างละ ๓ ส่วน พุทธาภิเษก ๓ ครั้ง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๑ เนื่องจากเป็นจังหวัดอันเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของภาคใต้
 ถ้ำคูหาสวรรค์ 
          ที่ตั้ง วัดคูหาสวรรค์ ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
           ประวัติ ถ้ำคูหาสวรรค์ตั้งอยู่ในวัดคูหาสวรรค์ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดคูหาสูง” หรือ "วัดสูง” ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ตามตำนานนางเลือดขาวระบุว่า เมือตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอัฐิของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์
          ตามความในหนังสือทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร(เอียด) กล่าวว่า วัดคูหาสวรรค์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๔ ส่วนความในหนังสือพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา ระบุว่าพระราชมุนีร่วมกับพระครูธรรมรังษี พระมหาเถรพุทธรักขิต พระครูบุศเทพ พระหมื่นเทพบาล สร้างวัดบริเวณ ถ้ำ คูหาสวรรค์ และก่อพระพุทธรูป ๒๐ องค์ สร้างพระเจดีย์ ๗ องค์ เข้าถวายพระราชกุศลเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้มีพระตำรา ตราโกษาธิบดี ยกญาติโยมและ๓มิสัตว์ไร่นาอันมีในที่นั้น ๑๒ หัวงานขาดออกจากส่วยหลวง เป็นศีลบานทานพระกัลปนาสำหรับวัดคูหาสวรรค์สืบต่อไป อยู่ต่อมา เมื่อออกเมืองคำออกเป็นเจ้าเมืองพัทลุง อุยงคตนะโจรสลัดมลายูยกกำลังเข้าปล้นเมืองพัทลุง ได้เผาผลาญบ้านเรือน วัดวาอารามมาจนถึงตำบลคูหาสวรรค์ ดังนั้นวัดคูหาสวรรค์ก็น่าจะถูกทำลายไปด้วย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดคูหาสวรรค์จึงได้รับการบูรณะใหม่
          สมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๔๓๒ วัดคูหาสวรรค์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายูในครั้งนั้นทรงจารึกพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. ๑๐๘ ไว้บริเวณหน้าถ้ำ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรา นุวัติวงศ์ก็ได้เสด็จวัดคูหาสวรรค์
          พ.ศ. ๒๔๕๔ วัดคูหาสวรรค์ได้ร้างลง ชาวบ้านจึงนิมนต์พระครูจรูญกรณีย์ (ตุค เกสโร) มมฃาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณะเป็นการใหญ่ วัดจึงค่อยๆ เจริญขึ้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ เมืองพัทลุงย้ายจกตำบลลำปำมาตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ พระยาคณาศัยสุนทร(สา สุวรรณสาร) ผู้ว่าราชการเมืองสมัยนั้น ได้ช่วยบูรณะวัดอีกแรงหนึ่ง
          พ.ศ.๒๔๗๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จวัดคูหาสวรรค์ และได้จารึกพระนมย่อ บ.ส. ๓๐.๑๐.๗๓ ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ
          พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์ได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร.และสก. ๑๗.๓.๒๕๐๒ ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ

รูปแบบศิลปกรรม
          ถ้ำคูหาสวรรค์ เดิมชาวบ้านเรียกว่า "ถ้ำน้ำเงิน” หรือ "ถ้ำพระ” ส่วนชื่อคูหาสวรรค์ เชื่อว่าน่าจะมีการเรียกมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ถ้ำกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูงเป็นเวิ้งรูปกรวย ตอนบนมีหินงอกคล้ายรูปช้าง ชาวบ้านเรียกว่า "ช้างผุด” หรือ หินลับแล พื้นถ้ำปูด้วยอิฐถือปูน มีเจดีย์เล็กๆหนึ่งองค์ มีพระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และ ทิศตะวันตก รวม ๓๗ องค์ มีขนาดต่างๆกัน พระพุทธรูปเหล่านี้ตามประวัติว่า พระราชมุนี(สมเด้จเจ้าพระโคะหรือหลวงพ่อทวดวัดช้างให้)ได้ร่วมสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาจำนวน ๒๐ องค์ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการบูรณะและสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีก ๑๗ องค์ ด้านทิศตะวันออกของเศียรพระพุทธไสยาสน์มีกรุพระพิมพ์ที่ชาวบ้านได้ขุดพบพระแบบต่างๆเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระจำหลักไม้พระพุทธรูปปูนปั้น พระสำริด และพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า "พระผีทำ” ปากถ้ำมีหินเป็นชั้นกั้นติดกับหินปากถ้ำ สูงประมาณ ๒ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า "หัวทรพี” ตรงข้ามเป็นรูปพระฤาษีตาไฟปูนปั้น มีตำนานวื่ นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารสร้างขึ้นแทนอนุสาวรีย์ตาสามโมกับยายเพชร และได้บรรจุอัฐิของตายายทั้ง ๒ ไว้ ภายใน ชาวบ้านถือว่า ศักดิ์สิทธิ์มากมีการบนบานปิดทองเต็มทั้งองค์จนไม่สามารถเห็นลักษระแท้จริงได้ เคยได้รับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘
          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๓๙)


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 698,638