วัดเขาอ้อ
วัดเขาอ้อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๖๕๑ หรือกว่า ๙๐๐ ปีแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้คือ "สานส์ตราของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช" ที่มีมาถึงพระยาแก้วโกรพพิชัยบดินทร์สุรินทรเดชอภัยพิริยะพาหะ เจ้าเมืองพัทลุง ลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๐๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๘๔ (สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา) มีความว่า "ด้วยขุนศรีสมบัตินายกองสุราเข้าไปฟ้องว่า ที่วัดเขาอ้อสร้างมาก่อนแล้วกลับรกร้างสิ่งก่อสร้างชำรุดทรุดโทรมลงมาก คราวหนึ่งพระมหาอินทราชจากปัตตานีได้มาเป็นเจ้าวัดและได้มาปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่โดยมีตาปะขาวขุนแก้วเสนาขุนศรีสมบัติ เป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ช่วยกันซ่อมแซมพระพุทธรูปในถ้ำ ๑ องค์ ซึ่งปรักหักพังแล้วเสร็จได้ดำเนินการสร้างเสนาะอื่น ๆ จนเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ได้ ต่อมาเมื่อได้พระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว พระมหาอินทราชกับคณะดังกล่าว ได้จัดการสร้างพระอุโบสถขึ้นตาปะขาวขุนแก้วเสนา ได้มีหนังสือขอพระราชทานคุมเลขยกเว้นการใช้งานหลวงต่าง ๆ ถวายไว้แก่วัดเพื่อช่วยเหลือในการสร้างพระอุโบสถ ๕ คน คือนายเพ็ง นางพรหม นายนัด นายคง และนายกุมาร ครั้นพระอุโบสถเสร็จแล้วก็มีหนังสือบอกถวายพระราชกุศลไปให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง หล่อด้วยเงินอีกองค์หนึ่งส่งไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาอ้อ แล้วพระมหาอินทราชพร้อมด้วยสัปบุรุษทายก ได้จ้างช่างเขียนลายลักษณะพระพุทธบาททำมณฑป กว้าง ๕ วา สูง ๖ วา ขึ้นบนไหล่เขาอ้อเป็นประดิษฐานลายลักษณ์พระพุทธบาท ต่อมาพระมหาอิทราชทรงเห็นว่าลายลักษณ์ที่จ้างช่างเขียนไว้ไม่ถาวร จึงพร้อมด้วยขุนศรีสมบัติเรี่ยไรเงินจากผู้ที่ศรัทธาได้ ๑๐ ตำลึง" และก็มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเมืองพัทลุงที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของวัดเขาอ้อ หรือสำนักเขาอ้อที่เกี่ยวกับวิชาไสยศาสตร์ความว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งที่พม่ายกทัพมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช ได้เป็นผลสำเร็จแล้วยกทัพตีมาเรื่อยพระยาพัทลุง (ขุน) กับพระมหาช่วย วัดป่าเลไลย์ ชาวบ้านน้ำเลือด ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์วัดเขาอ้อมีความรู้เชี่ยวชาญในทางไสยเวทย์ได้ลงตะกรุด ผ้าประเจียดให้แก่ไพร่พลแล้วแต่งเป็นกองทัพยกไปคอยรับทัพพม่าอยู่ที่ตำบลท่าเสียด ครั้นทัพพม่ายกกำลังมาถึงเห็นกองทัพไทยจากพัทลุงมีกำลังมากกว่าตนแต่ที่แท้จริงมีกำลังน้อยกว่ากองทัพพม่าหลายเท่า แต่ด้วยอำนาจพระเวทย์มนต์ตราและคาถาที่พระมหาช่วยนั่งบริกรรมภาวนาอยู่เบื้องหลัง ทำการผูกหุ่นพยนต์ขึ้นเป็นทหารสูงใหญ่ให้ข้าศึกมองเห็นเป็นคนจำนวนมากและมีกำลังร่างกายสูงใหญ่ ดุดันผิดปรกติกองทัพพม่าจึงยกทัพกลับไป พระมหาช่วยมีความชอบทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาแล้วทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "พระยาทุกขราษฎร์" เป็นผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง ชาวเมืองพัทลุงได้ยกย่องพระมหาช่วยว่าเป็นวีรบุรุษ จึงได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ที่สามแยก ท่ามิหรำ อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง ในบริเวณเขาอ้อมีถ้ำหลายแห่ง เช่น ถ้ำพระ หรือถ้ำฉัททันต์บรรพตใช้สำหรับปลุกเสกพระเครื่องและวัตถุมงคล จตุคามรามเทพ ถ้ำไทร ถ้ำหอม และถ้ำท้องพระโรง วัดเขาอ้อแต่เดิมเรียกว่าวัด "ประดู่หอม" ได้เปลี่ยนนามมาเป็น "วัดเขาอ้อ" ในสมัยพระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรทันต์บรรพต เป็นเจ้าอาวาส นับได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพัทลุง โดยตั้งอยู่ที่ริมทางรถไฟก่อนที่จะถึงสถานีรถไฟปากคลองเพียง ๒ กิโลเมตรขึ้นอยู่ในเขตตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน วัดเขาอ้อเป็นวัดสำคัญและมีบทบาทวัดหนึ่งในสมัยอยุธยาแต่สมัยต่อมาขาดการดูแลจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๔ พระมหาอินทราชซึ่งเดินทางมาจากเมืองปัตตานีมาเป็นเจ้าอาวาสได้บูรณะปฎิสังขรณ์สิ่งปรักหักพังต่าง ๆ ที่มี เช่น พระพุทธรูปในถ้ำ ๑๐ องค์ ตลอดถึงพระอุโบสถและเสนาสนะอื่น ๆ หลังจากนั้นพระมหาอินทราชได้มีหนังสือไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอพระราชการกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ๑ องค์ พระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ ให้แก่วัดเขาอ้อ ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปทั้งสอง ว่ารูปเจ้าฟ้าอิ่มและรูปเจ้าดอกมะเดื่อ สำหรับพระพุทธรูปเจ้าฟ้ามะเดื่อที่ว่านี้ยังมีผู้เล่าประวัติออกไปว่าที่เชื่อเช่นนั้น ก็เพราะอดีตนายมะเดื่อ หรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา และเชื่อกันว่านายมะเดื่อนั้นเป็นโอรสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เดินทางไปศึกษาวิทยากรในสำนักเขาอ้อ โดยยกกันไปทั้งครอบครัวหนึ่งในจำนวนนั้นมีเชื้อพระวงศ์แต่ไม่แน่ว่าเป็นสายใดชื่ออิ่มอยู่ด้วย ครั้นศึกษาได้พอสมควรแล้วก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาเข้ารับราชการจนกระทั้งเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเสือ ขณะที่อยู่ที่วัดเขาอ้อก็ได้สร้างปูชนีวัตถุไว้เป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งคือพระพุทธรูปที่ว่านี้ ต่อมาเมื่อชาวบ้านทราบว่าผู้ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาคุณในครั้งนั้นถึงเป็นถึงเจ้าฟ้า จึงได้ถวายนามพระพุทธรูปองค์นั้นตามชื่อผู้สร้างคือเจ้าฟ้ามะเดื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ เพราะสร้างตั้งแต่เป็นเจ้าฟ้ามะเดื่อ ส่วนเจ้าฟ้าอิ่มนั้นก็เช่นกันสร้างขึ้นโดยราชวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งมีนามเดิมว่าอิ่มซึ่งต่อมาได้เป็นใครก็ไม่อาจจะทราบได้ ผลแต่การศึกษาของเจ้าฟ้ามะเดื่อหรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในทางวิทยาการด้านนี้ ต่อมาพระมหาอินทราชได้สร้างพระพุทธบาทจำลองด้วยมณฑปไว้บนเขาอ้อ สร้างพระพุทธไสยาสน์ ๑ องค์ และสร้างเจดีย์ไว้บนเขา ๓ องค์ เมื่อท่านพระมหาอินทราชได้ออกจากวัดไปทำให้วัดก็มีสภาพเสื่อมโทรมอีกครั้ง ท่านปะขาวขุนแก้วเสนา และขุนศรีสมบัติพร้อมด้วยบรรดาชาวบ้านใกล้เคียง ได้ไปนิมนต์พระมหาคง จากวัดพนางตุงมาเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่นั้นมาวัดก็ค่อย ๆ เจริญขึ้นเรื่อย ๆ วัดเขาอ้อมีเจ้าอาวาสปกครองต่อกันมากมายหลายสิบรูป ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ มีชื่อเสียงโดงดังไปทั่วภาคใต้ ชาวพัทลุงและใกล้เคียงเชื่อกันว่าเป็นวัดเขาอ้อมีความศักดิ์สิทธิ์และชื่อเสียงทางด้านไสยศาสตร์มาตั้งแต่โบราณกาล
ตำนานกล่าวว่าก่อนที่จะมาเป็นวัดเขาอ้อเป็นสำนักเขาอ้อมาก่อนเล่ากันว่าจุดกำเนิดของสำนักเขาอ้อนี้ แต่เดิมเป็นที่บำเพ็ญพรตของพราหมณ์มาหลายรุ่น อันเนื่องจากภายในถ้ำบนเขาอ้อนั้นเป็นทำเลที่ดีมาก ตัวเขาอ้อเองก็ตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรของชุมชนในอดีตเมืองที่เจริญในละแวกนั้นได้แก่ สทิงปุระ หรือสะทิงพาราณสีซึ่งก็คืออำเภอสทิงพระในปัจจุบัน ประวัติของเมืองสทิงปุระนั้นเกี่ยวข้องกับพราหมณ์อยู่มาก แม้กระทั่งในสมัยศรีวิชัยที่ศาสนาพุทธแผ่อิทธิพลทั่วแหลมาลายู ในบริเวณสว่นนั้น (เขตเมืองพัทลุงในปัจจุบัน) ยังเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของพราหมณ์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่นที่สุดในขณะนั้น ต่อมามีพราหมณ์ผู้ทรงวิทยาคุณ (ฤาษี) คณะหนึ่งได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำบนเขาอ้อบำเพ็ญพรตจนเกิดอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ตามตำราอาถรรพเวท (พระเวทอันดับ ๔ ของคัมภีร์พราหมณ์) แล้วได้ถ่ายทอดวิชานั้นต่อ ๆ กันมา พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งสำนักถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้สนใจ ซึ่งตามวรรณะแล้วพราหมณ์มีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เชื้อพระวงศ์ หรือวรรณะกษัตริย์และลูกหลานผู้นำ เพื่อจะให้นำไปเป็นความรู้ในการปกครองคนต่อไป สำนักเขาอ้อสมัยนั้นจึงมีฐานะคล้าย ๆ สำนักทิศาปาโมกข์ของพราหมณ์ผู้ทรงคุณพราหมณ์ผู้ทรงคุณดังกล่าวได้ถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ให้พราหมณาจารย์สืบทอดต่อ ๆ กันมาซึ่งเท่าที่สืบค้นรากฐาน ก็พบว่าวิชาที่ถ่ายทอดให้คณาศิษย์นอกจากวิชาในเรื่องการปกครองตามตำราธรรมศาตร์แล้ว ก็ยังมีเรื่องพิธีกรรมฤกษ์ยามการจัดทัพตามตำราพิชัยสงคราม ตลอดจนไปถึงไสยเวท และการแพทย์ตามตำนานบอกวิชาสองสายสืบทอดโดยพราหมณาจารย์ผู้เฒ่าสองคน ซึ่งสืบทอดกันคนละสายตลอดมา การสืบทอดวิชาของสำนักเขาอ้อได้ดำเนินเช่นนั้นไป จนกระทั้งมาถึงพราหมณ์รุ่นสุดท้ายและได้เห็นว่าไม่มีผู้รับสืบทอดต่อแล้ว ประกอบกับเล็งเห็นว่าเมื่อสิ้นท่านแล้วสถานที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์ผู้บรรลุพระเวทหลายคนได้ฝังร่างไว้ที่นั้น สถานที่นั้นจึงสำคัญเกินที่จะปล่อยให้รกร้างไปได้พราหมณ์ผู้เฒ่าท่านนั้นจึงได้เล็งหาผู้ที่จะมาสืบทอด และรักษาสถานที่สำคัญนั้นไว้ ประกอบกับขณะนั้นอิทธิพลทางพุทธศาสนาได้แผ่เข้ารายล้อมเขตเมืองพัทลุงแล้วบริเวณข้าง ๆ ในบริเวณเขาอ้อก็มีวัดอยู่หลายวัด มหาพราหมณ์ทั้ง ๒ ท่านเล็งเห็นว่าต่อไปภายภาคหน้าพุทธศาสนาจะยั่งยืนและแผ่อิทธิพลในดินแดนแถบนี้ การที่จะฝากอะไรไว้กับผู้ที่ยั่งยืนและมีอิทธิพลน่าจะเป็นการดีกว่า ท่านเลยตัดสินใจนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งมาจากวัดน้ำเลี้ยวให้มาอยู่ในถ้ำแทนท่านจากนั้นก็มอบคำภีร์พระเวทศักดิ์สิทธิ์ ของบูรพาจารย์พราหมณ์พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาทางไสยเวทให้ รวมทั้งวิชาทางการแพทย์แผนโบราณแก่ท่านพระภิกษุรูปแรก ที่พราหมณ์ผู้เฒ่านิมนต์มามีนามว่า "ทอง" (วัดเขาอ้อมีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเจ้าอาวาสที่ชื่อทองติดต่อกันมาหลายสิบรูป) ซึ่งต่อมาเจ้าอาวาสของวัดเขาอ้อทุกรูป ก็จะได้รับการถ่ายทอดวิชาตามคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของบูรพาจารย์พราหมณ์สืบต่อกันมา ทำให้เป็นผู้ทรงคุณวิเศษในด้านไสยเวทวิทยาคมเป็นที่ประจักษ์มาทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุผลดังกล่าววัดเขาอ้อจึงมีชื่อเสียงในทางไสยเวทและการแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับว่าน ภายหลังจึงมีพิธีแช่ว่าน พิธีกรรมทางไสยเวทหลายอย่างขึ้นที่นั่นจนลือเลื่องไป
วัดเขาอ้อเป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทองเฒ่าหรือพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ พระอาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา พระครูพิพัฒน์สิริธร (อาจารย์คง) วัดบ้านสวน พระอาจารย์ปาน วัดเขาอ้อ และที่เป็นฆราวาสที่คนทั่วไปรู้จักกันดีได้แก่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช วัดเขาอ้อหรือสำนักเขาอ้อมีลักษณะคล้ายสำนักทิศาปาโมกข์ของพราหมณ์ หรือฤษีผู้ทรงคุณวิชาที่ถ่ายทอดนอกจากวิชาการปกครองตามตำราธรรมศาสตร์แล้ว พราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิได้ถ่ายทอดเรื่องพิธีกรรมฤกษ์ยามการจัดทัพตามตำราพิชัยสงครามตลอดจนไสยเวทย์ และการแพทย์ สำนักเขาอ้อหรือวัดเขาอ้อได้มีความเจริญรุ่งเรืองและบางครั้งก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนสมัยของเจ้าอาวาสรูปที่ ๙ คืออาจารย์ทองเฒ่าหรือพระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรฑันบรรพต ซึ่งมีความชำนาญทางไสยศาสตร์มากได้มีการปรับปรุงและพัฒนาวัดเขาอ้อจนมีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง วัดเขาอ้อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๖๑ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร